ยาปราศจากเชื้อนั้นจำเป็นต้องปราศจากเชื้อจุลชีพ สารก่อไข้และอนุภาคปนเปื้อน ทำให้สถานที่ผลิตยาปราศจากเชื้อมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การผลิตยาปราศจากเชื้อจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสากลซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีข้อกำหนดเพิ่มเติมมากกว่าการผลิตยาในรูปแบบอื่น นอกจากแต่ละขั้นตอนในการผลิตจะต้องสอดคล้องกับระดับความสะอาดของห้องสะอาดแล้ว ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพแวดล้อม การไหลอากาศ บริเวณข้างเคียงและการทำความสะอาดเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ (a)
ตามมาตรฐาน EU CGMP (European Union Current Good Manufacturing Practice) ห้องสะอาดมีการแบ่งระดับบริเวณผลิตยาปราศจากเชื้อออกเป็น 4 ระดับตามตารางด้านล่าง
ระดับ A คือ บริเวณที่มีความเสี่ยงสูงเช่นการผลิตและการบรรจุ
ระดับ B คือ บริเวณรอบๆ ระดับ A ที่ใช้ในการเตรียมการผลิต
ระดับ C, D คือ บริเวณที่มีความวิกฤตรองลงมา
มาตรฐานได้กำหนดให้แต่ละบริเวณในสภาวะ At rest หรือ สภาวะ In operation สามารถมีจำนวนอนุภาคฝุ่นที่ขนาด 0.5 ไมครอน และ 5 ไมครอน ได้มากที่สุดจำนวนกี่อนุภาค
“At Rest” หรือสถานะไม่มีการปฏิบัติงาน เป็นสภาวะที่ได้มีการติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตเรียบร้อยแล้ว และมีการทำงานของเครื่องจักร แต่ไม่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณนั้น
“In Operation” หรือสถานะที่มีการปฏิบัติงาน เป็นสภาวะที่บริเวณนั้นมีการเดินเครื่องจักรในการผลิตและมีผู้ปฏิบัติงานอยู่
1. การทำห้องคลีนรูมให้ได้เกรด B, C และ D จำนวน Air change ควรต้องสัมพันธ์กับขนาดของห้อง เครื่องจักร อุปกรณ์ และจำนวนบุคลากรที่อยู่ในห้อง อีกทั้งระบบปรับอากาศจะต้องมีการติดตั้ง HEPA filter ให้เหมาะสมกับห้องเกรดต่างๆ
2. แนวทางที่แนะนำไว้สำหรับจำนวนอนุภาคสูงสุดทึ่อนุญาตให้มีได้ไม่เกิน ในสภาวะ “At rest” จะสอดคล้องกับ ISO โดยประมาณซึ่งการจำแนกประเภทดังนี้ คือ
ห้องเกรด A และ B ก็จะสอดคล้องกับ ISO 5
ห้องเกรด C ก็จะสอดคล้องกับISO 7
ห้องเกรด D ก็จะสอดคล้องกับ ISO 8
3. ข้อกำหนดและขีดจำกัด สำหรับพื้นที่นี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะของการปฎิบัติงาน
บริเวณเกรด A จำนวนอนุภาคฝุ่นควรจะกลับคืนสู่สภาวะ “At rest” ภายในเวลาสั้นๆ ประมาณ 15-20 นาที (Clean up period) หลังจากที่ปฏิบัติงานเสร็จแล้วและไม่มีผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณนั้น ความสะอาดในระดับเกรด A ( In Operation) ควรจะรักษาระดับความสะอาดดังกล่าวไว้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในบางจังหวะเวลาที่เกิดจากสร้างอนุภาคฝุ่นที่เกิดจากตัวผลิตภัณฑ์ยาเอง
นอกจากนี้การสุ่มตรวจตัวอย่างอากาศและการเพาะเชื้อเพื่อหาจุลินทรีย์และกำหนดค่าให้ไม่เกินที่กำหนด ดังตารางด้านล่าง
(a) อ้างอิง บทความการศึกษาต่อเนื่อง (CPE) สถานที่และการควบคุมสภาวะแวดล้อมสำหรับการผลิตยาปราศจากเชื้อ ภก. ดร.ถิรทิพย์ สุบงกช คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา